สุพรรณิการ์

สุพรรณิการ์

สุพรรณิการ์

                ต้นสุพรรณิการ์ หรือที่ทางภาคเหนือเรียกกันว่า ฝ้ายคำ เมื่อออกดอกบานสะพรั่งพร้อมกันจะงดงามเป็นที่สะดุดตามากๆ เพราะใบของมันจะร่วงจนเกือบหมดต้น เหลือไว้แต่ดอกสีเหลืองอร่าม สวยงามน่ามอง แม้ชื่อของจะฟังดูเป็นไทย จนบางคนอาจหลงนึกว่าเป็นพันธุ์ไม้ไทยแท้แต่โบราณ แต่ สุพรรณิการ์ มีถิ่นกำเนิดมาจากทวีปอเมริกาใต้ โดยคนไทยได้นำเข้ามาหลายสิบปีแล้ว ทั้งยังเป็นที่นิยมปลูกกันมาก ด้วยความเชื่อว่าเป็นไม้มงคล ช่วยให้ผู้ปลูกเจริญรุ่งเรืองด้านเงินทองโภคทรัพย์ เพราะคำว่า สุพรรณิการ์ แปลว่า ทองคำ นั่นเอง

ลักษณะทางพฤษศาสตร์
สุพรรณิการ์
เป็นพันธุ์ไม้ประดับยืนต้นขนาดกลาง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับตามกิ่งและลำต้น ขอบใบหยักเป็นซี่คล้ายฟันปลา ออกดอกเป็นช่อยาว 20-30 เซนติเมตร ลักษณะดอกมี 2 ชนิด คือ ชนิดดอกซ้อนเป็นชั้น และไม่ซ้อน กลีบดอกสีเหลืองสดหรือเหลืองทอง

เวลาออกดอกจะทิ้งใบเกือบหมดต้น สำหรับสุพรรณิการ์ปกติกลีบไม่ซ้อน กลีบดอกจะมี 5 กลีบ รูปช้อน ปลายเว้า กลีบค่อนข้างแข็ง ส่วนชนิดดอกซ้อน ซึ่งจะมีกลีบดอกซับซ้อนมากขึ้น ดูคล้ายพู่ มีความหนา ฟู และนุ่มกว่า

วิธีการปลูก
ควรปลูกต้นสุพรรณิการ์ในดินร่วนซุย ระบายน้ำได้ดี และควรปลูกลงดินเท่านั้น โดยให้ขุดหลุมปลูกขนาด 50*50*50 เซนติเมตร และผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก : ดินร่วน ในอัตราส่วน 1: 2  ลงในดินที่ใช้ปลูก

วิธีการดูแลรักษา
ต้นสุพรรณิการ์ เป็นไม้ที่ต้องการแสงแดดจัดตลอดวัน สามารถทนต่อสภาพอากาศที่ร้อน และแห้งแล้งได้ดี ชอบความชื้นระดับปานกลาง ควรให้น้ำแค่สัปดาห์ละครั้งก็เพียงพอ การใส่ปุ๋ยใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ในอัตรา 1-2 กิโลกรัม/ต้น โดยให้ใส่ปีละ 4-6 ครั้ง สำหรับศัตรูพืชที่ควรระวังเป็นพิเศษ คือ เพลี้ย เพราะเป็นพันธุ์ไม้ที่ไม่ทนทานต่อการระบาดของเพลี้ยแป้ง

               ประโยชน์ของต้นสุพรรณิการ์ นอกจากจะสามารถปลูกไว้เป็นไม้ประดับเพื่อความสวยงามและเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่อยู่อาศัยแล้ว คนยังนิยมนำดอกมาบูชาพระ ที่สำคัญในส่วนของยางจากต้นก็ยังให้ Karaya gum หรือทางการค้าเรียกว่า Crystal gum มีลักษณะเป็นก้อนผลึกสีเหลืองอ่อน หรือน้ำตาลอมชมพู ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย

ทั้งเป็นยาระบาย ใช้เป็นส่วนผสมในน้ำยาจัดแต่งทรงผม รวมทั้งใช้เป็นยาทาบำรุงผิวก็ได้ ไม่เพียงเท่านั้น ยังใช้ในอุตสาหกรรมทอผ้าและการพิมพ์ อุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง และใช้ผสมในไอศกรีมเพื่อทำให้ข้นก็ได้ ส่วนดอกแห้งและใบแห้งก็ยังสามารถนำมาใช้เป็นยาบำรุงกำลัง หรือทำเป็นเครื่องไม้หอมจำพวกบุหงาได้อีกด้วย

มีสาระ กับคน รักดอกไม้ และ รักต้นไม้ กันได้เป็นประจำทุกสัปดาห์กับเราได้ในเว็บไซต์นี้ ruk-suan.com ติดตามได้ที่ page Facebook คนรักบ้าน

Facebook
Twitter