หลายคนคงเคยสัมผัสและรู้จักพืชกลิ่นหอมที่ขึ้นง่ายและถูกนำมาใช้แปรรูปได้อย่างหลากหลายมากมาย ในช่วงเวลาที่ต้องเดินทางและเข้าที่พัก ฝ่ายต้อนรับก็มักนำเครื่องดื่มสมุนไพรอย่างน้ำใบเตยมาบริการให้เป็นที่ประทับใจในการเจอะเจอครั้งแรก หรือในงานเลี้ยงที่ต้องการแสดงความเป็นไทยให้เป็นทางเลือกในการลิ้มลองเครื่องดื่มที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ดับกระหาย มีทั้งคุณค่าและความพิเศษด้านกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว
ทำให้ต้นเตยหอมจากพืชที่เคยปลูกแบบไม่ใส่ใจ กลับได้ประโยชน์จากพืชชนิดนี้ที่ปลูกแบบกำหนดทิศทางสร้างคุณค่าอย่างอเนกอนันต์ เตยหอมพืชที่เน้นใช้ใบ ปลูกง่ายขึ้นได้เกือบทุกสภาวะทั้งกลางแจ้งและร่มรำไร อยู่ได้ในพื้นที่ชื้นแฉะและน้ำขังท่วมโคนลำต้นก็ยังเติบโตได้ดี

โดยปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวได้ยาวนานหลายปี เพียงใช้พื้นที่ว่างจากข้างพื้นที่แปลงผลิตพืชที่มีอยู่ ปลูกแทรกเสริมเข้าไปที่ดูแล้วจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการผลิตแม้แต่ชายขอบร่องแหล่งน้ำ เตยหอมก็สามารถเจริญเติบโตได้ดี แถมยังมีรากที่ออกจากโคนและข้างของลำต้นช่วยยึดเกาะดิน ลดการพังทลายของพื้นที่ที่มีระดับความต่างของพื้นผิวดิน กระทั่งเส้นทางน้ำไหลที่เราไม่อยากให้หน้าดินถูกพัดพาไปกับน้ำ เรียกว่าได้ช่วยรักษาระบบนิเวศจากพืชยึดผิวหน้าดินอีกทางหนึ่งนั่นเอง
นอกเหนือจากนั้นส่วนของลำต้น รากและใบ เรายังนำมาใช้ตามภูมิปัญญาที่ให้ทั้งสีและกลิ่นในการทำขนมนานาชนิด ที่เป็นทั้งผลิตภัณฑ์หลักและเสริมองค์ประกอบให้เป็นของพิเศษกว่าสารสังเคราะห์ทั่วไป การให้สีและกลิ่นของเตยหอม ผู้ปลูกต้องรู้จักและเข้าใจถึงสภาพแวดล้อมและพันธุ์ ที่บางครั้งแม้จะดูทางกายภาพคล้ายกันแต่พันธุ์จะต้องเป็นเตยหอมเฉพาะ

จากนั้นต้องปลูกที่ถูกวิธีมีธาตุอาหารที่เหมาะต่อการสร้างกลิ่น (Fragrant screw pine) โดยเน้นการให้สารอินทรีย์ในปริมาณที่สูงพอดีและมีสภาพร่มรำไร เพื่อช่วยให้ใบมีสีเขียวสดมากขึ้นจากการพรางแสงดูแตกต่างจากที่ปลูกกลางแจ้งทีเดียว ซึ่งความหอมเมื่อขยี้ใบเตยจะมีกลิ่นคล้ายคลึงกับดอกชมนาด มะพร้าวน้ำหอม หรือข้าวขาวดอกมะลิ ที่มีสารหอมระเหยชนิดเดียวกันโดยเรียกสารนั้นว่า 2AP(2-Acetyl-1-Pyrroline) ซึ่งล้วนแล้วมีอยู่ในผลิตผลทางการเกษตรจากประเทศไทยที่ดังไกลไปทั่วโลกเลยก็ว่าได้
จากการสัมภาษณ์คุณประนอม ขนุนนิล เกษตรกรผู้ปลูกต้นเตยหอมในพื้นที่หมู่ที่ 9 ตำบลคลองน้อย อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้เชี่ยวชาญในการปลูกใบเตยหอม และมีประสบการณ์ในการปลูกและดูแลต้นเตยหอมมาเกือบ 10 ปี ได้เปิดเผยว่าใบเตยกำลังเป็นที่ต้องการของท้องตลาด และนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่สร้างรายได้ให้เป็นอย่างดี และได้แนะนำขั้นตอนในการปลูก การคัดแยกหน่อเพื่อขยายพันธุ์ รวมถึงการจัดการในการดูแลรักษาให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ยาวนานยิ่งขึ้น โดยมีวิธีการดังต่อไปนี้คือ

1.เลือกพื้นที่ที่มีความชื้นสูง มีพื้นดินที่ชื้นแฉะอยู่ตลอดเวลาจะทำให้ต้นเตยหอมเจริญเติบโตได้ดีกว่าในพื้นทีแห้งแล้ง เช่นพื้นที่ตามร่องสวนที่มีน้ำหมุนเวียนตลอดจะเหมาะสมมาก
2. การคัดเลือกกล้าพันธุ์หรือหน่อที่ดี ควรเลือกที่มีองค์ประกอบของส่วนต่างๆครบและสมบูรณ์ คือ มียอดและใบที่สมบูรณ์ โดยจะอยู่ที่ประมาณ 10 ใบ หน่อไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป และมีรากพอที่จะดูดน้ำและอาหารไปหล่อเลี้ยงลำต้นได้แต่ไม่ยาวจนเกินไป เพราะจะทำให้หน่อที่ปลูกฟื้นตัวได้ช้าและไม่สะดวกในการปลูก
3. ปลูกให้เป็นแถวโดยใช้ไม้ปักนำ ระยะห่างแต่ละต้นประมาณ 1 ศอก ระยะห่างระหว่างแถวพอประมาณ ให้เป็นช่องพอที่จะเดินผ่านได้ และคอยดูแลกำจัดวัชพืชรวมถึงไม้เลื้อยที่ขึ้นปกคลุมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และเพื่อให้ต้นเตยหอมเจริญเติบโตได้ดี
4.เมื่อปลูกครบ 2 เดือน ให้ใส่ปุ๋ยไนโตรเจนเพื่อบำรุงใบ โดยสูตรที่ใช้เป็นประจำและได้ผลดีคือสูตร 21-0-0 และไม่ต้องใส่มากเกินไป โดยเฉลี่ยแล้วจะใส่เพียงต้นละ 1 หยิบมือโดยประมาณ หลังจากนั้นใส่ปุ๋ยสูตรเดิมทุกๆ 2 เดือน และหมั่นคอยกำจัดวัชพืชอย่างสม่ำเสมอ
5.ควรตัดใบเตยจากด้านล่างของลำต้นไล่ขึ้นไปด้านบน เพื่อให้ได้ใบเตยที่ดีและมีคุณภาพนั้นโดยให้เหลือส่วนที่เป็นใบและยอดแต่ละต้นประมาณ 15 ใบ และเว้นช่วงเวลาในการตัดใบแต่ละต้นประมาณ 3 วัน เพื่อให้ต้นไม่โทรมและยืดระยะเวลาการเก็บเกี่ยวใบเตยได้นานหลายปียิ่งขึ้น
การปลูกและการดูแลอย่างถูกวิธี จะช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกเตยหอมสามารถ ตัดใบเตยหอมขายได้ตลอดทั้งปี และยืดอายุของต้นเตยหอมให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้หลายปีโดยไม่ต้องปลูกเพิ่มอีกด้วย
ส่วนรูปแบบการนำไปใช้ในประเทศที่เรามักเห็นอย่างคุ้นตา ตั้งแต่การตัดลำต้นสดมามัดกำร่วมกับดอกไม้ใส่แจกันถวายพระ ตลอดจนการทำช่อใบเตยที่พับใบให้ดูคล้ายช่อดอกไม้ ช่วยเพิ่มมูลค่าทางการค้าจากงานฝีมือ หรือตัดเฉพาะกาบใบใช้เรียงรองจานอาหาร ถาดผลไม้ก็ทำให้ดูน่ารับประทานไม่น้อย หากจะพับเป็นกระทงใส่ขนมยิ่งจะทำให้ส่งกลิ่นหอมเข้าไปถึงเนื้อของวัตถุดิบที่ใส่ลงไปทั้งยังเพิ่มมูลค่าทางการขายเป็นผู้ค้าสมัยใหม่ที่ใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

หรือจะนำใบใช้คั้นให้ได้น้ำใช้ผสมเป็นวัตถุดิบหลักหรือวัตถุดิบเสริมเพิ่มโอกาสของสินค้าก็เป็นสิ่งที่เราจะเลือกใช้ตามใจและตามช่องทางทางการตลาดทั้งขนาดย่อมในครัวเรือน และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในประเทศและถึงขั้นสกัดหัวน้ำหอมเพิ่มมูลค่าได้อย่างมากมาย
นอกจากนี้เกษตรกรอาจศึกษาและใช้ช่องทางที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นเพื่อและกำหนดทิศทางการผลิตให้สอดคล้องกันบนพื้นฐานภายใต้เงื่อนไขความปลอดภัยเพราะสิ่งเหล่านี้มีการบริโภคเข้าสู่ร่างกาย รวมถึงการนำไปใช้ก็ต้องสัมผัสโดยตรง แม้จะมีข้อบ่งชี้ทางการใช้และการได้ถึงคุณประโยชน์ของเตยหอมอีกนานัปการ
เราพึงต้องวิเคราะห์ถึงความเชื่อมโยงทางการผลิต การแปรรูปและการตลาดให้เหมาะสมและสอดคล้องกับตัวเรา อันเป็นการต่อเชื่อมภูมิปัญญาไปสู่การค้าการลงทุน ผ่านช่องทางเกษตรแบบพื้นบ้านของไทยให้ก้าวไกลอย่างมีระบบ สู่เกษตรอุตสาหกรรมในระดับสากลได้ต่อไปด้วย
ติดตามเรื่องราวดีๆมีสาระ กับคน รักต้นไม้ กันได้เป็นประจำทุกสัปดาห์กับเราได้ในเว็บไซต์นี้ ruk-suan.com